วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์


     
         เวลาพูดถึงการศึกษา คนที่พอจะมีความรู้อยู่บ้าง มักต้องนึกถึงคำว่า education ในภาษาอังกฤษ และเวลามองหาการศึกษาโลก ก็มักมองไปที่เมืองฝรั่ง ดังที่เวลานี้เราได้นายกรัฐมนตรีที่จบมาจากโรงเรียนกินนอนของผู้ดีที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ ทั้งยังจบจากมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษอีกด้วย แล้วเรายังสรุปไม่ได้อีกหรือ ว่าทิศทางทางการเมือง การปกครอง และการศึกษา ที่เราเอาอย่างฝรั่งมานั้น ให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ
         กำพืดเดิมทางการศึกษาของเรา มาจากภาษาบาลีว่าสิกขา ซึ่งมีต้นตอมาจากพระพุทธศาสนา และเราเคยได้ยินชื่อวิทยาลัยสิทธัตถะแห่งเมืองบอมเบย์ในอินเดียบ้างไหม ทั้งๆ ที่ชื่อนี้คือพระนามเดิมของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตั้งวิทยาลัยแห่งนี้ชื่อแอมเบดก้า ซึ่งเกิดมาเป็นจัณฑาล คือคนนอกวรรณะอันต่ำช้าที่สุดของสินธูธรรม โดยที่สินธูธรรมคือวัฒนธรรมหลักของชาวชมภูทวีป ซึ่งแบ่งชนชั้นตามชาติกำเนิดให้เป็นพราหมณ์ หรือผู้รู้ กษัตริย์ หรือผู้บริหารบ้านเมือง แพศย์ พ่อค้าวาณิช และศูทร กรรมกร ในขณะที่จัณฑาลคือคนที่เกิดนอกวรรณะทั้งสี่ มีสถานะอันเลวทรามต่ำช้าที่สุดในสังคม
แอมเบดก้าเกิดร่วมสมัยกับคานธี ซึ่งยอมรับระบบวรรณะ แต่แอมเบดก้าปฏิเสธโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง หากเขาได้รับการศึกษาดียิ่งกว่าคานธีเสียด้วยซ้ำ แม้จะเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษคล้ายๆ กัน แต่เขาได้ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคอลัมเบียในสหรัฐ และจากแอลเอสอีในกรุงลอนดอนอีกด้วย เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญให้อินเดียตอนได้รับเอกราช โดยเขาประกาศว่าเขาเกิดมาเป็นฮินดูภายใต้สินธูธรรม แต่เขาปฏิเสธธรรมะดังกล่าว โดยหันมาสมาทานพุทธศาสนา ซึ่งปฏิเสธระบบชนชั้น  เป็นเหตุให้คนจัณฑาลเป็นล้านๆ คน พากันมาเป็นพุทธศาสนิกอีกด้วย
แอมเบดก้าเห็นว่าการเป็นชาวพุทธ โดยปฏิเสธระบบวรรณะเดิมอันกดขี่ข่มเหงคนเป็นชั้นๆ นั้นไม่เพียงพอ ชาวพุทธต้องได้รับการศึกษาเพื่อความเป็นพุทธหรือความเป็นไท ที่ตื่นขึ้นจากการครอบงำต่างๆ อีกด้วย สังฆรักษิตะ ซึ่งเป็นคนอังกฤษ และเป็นผู้ซึ่งไปช่วยประสานงานให้แอมเบดก้า ซึ่งสมาทานพระพุทธศาสนาได้ไม่ถึงปีก็สิ้นชีพลง
       น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ ไม่รู้จักสังฆรักษิตะ ซึ่งเป็นคนสำคัญในวงการพุทธร่วมสมัย ที่พยายามประยุกต์พุทธศาสนาที่เนื้อหาสาระ ให้เหมาะสมกับโลภาภิวัตน์ในบัดนี้[๑]  สังฆรักษิตะแสดงปาฐกถา ณ สิทธัตถะวิทยาลัย เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๒ เรื่อง Buddhism and Education ซึ่งควรที่พวกเราจะรับรู้ โดยปาฐกได้แจกแจงเป้าหมายการศึกษาออกไปอย่างกว้างๆ เป็นสามสี่ประเด็นคือ
                ๑)    เป้าหมายประการแรกของการศึกษา ควรเป็นไปเพื่อให้แต่ละคนได้รู้จักบทบาทของตนเอง ให้ได้รับผิดชอบในสังคมวงกว้าง ซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งนี้หมายความว่า ควรมีการสอนให้เด็กที่กำลังเติบโตขึ้นให้รู้จักมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ รู้จักเคารพความรู้สึกของคนนั้นๆ เด็กๆ ควรเรียนรู้ที่จะเติบโตขึ้น จนไปพ้นความเห็นแก่ตัวขั้นพื้นฐานให้ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้มงวดกวดขันกับนักเรียน ให้เรียบร้อยดังผ้าพับไว้ จนหมดศักยภาพหรือพลานุภาพ แม้จนอัจฉริยภาพ ซึ่งแต่ละคนมีอยู่ โดยซ่อนเร้นอยู่ภายในแต่ละบุคคล การศึกษาดังกล่าวควรเริ่มแต่ที่บ้านแล้ว แม้เมื่อเด็กเล็กมาก ครั้นเมื่อเขาเข้าไปสู่โรงเรียนหรือวิทยาลัย เขาควรได้เรียนรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของเขาในฐานะพลเมืองหรือสมาชิกของชุมชน ที่เขาควรมีบทบาททางการเมืองและทางสังคมในชุมชนหรือบ้านเมืองนั้นๆ โดยที่เยาวชนนั้นๆ ควรได้รับรู้อย่างกว้างไกลออกไปด้วยว่า เขาย่อมสามารถคิดนึกได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยปฏิเสธการครอบงำต่างๆ ทั้งทางลัทธิศาสนา ซึ่งรวมถึงพุทธศาสนา และการครอบงำทางอุดมการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะทุนนิยม บริโภคนิยม หรือสังคมนิยม ตลอดจนชาตินิยม ให้ตระหนักว่า เราแต่ละคนล้วนเป็นประชาชาวโลก ที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบกับโลกใบนี้ โดยเฉพาะก็ในเรื่องความสมดุลของธรรมชาติที่แวดล้อมโลกพิภพและจักรวาล
                  ๒)  ประการที่สอง เป้าหมายของการศึกษาควรเป็นไปเพื่อให้แต่ละคนได้มีความรู้ความชำนาญ เพื่อให้เขาทำมาหากินได้โดยสัมมาชีพ ควรเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ช่วยให้แต่ละคนได้ใช้ศักยภาพและฉันทะของเขาเพื่อการเรียนรู้ในสาขาวิชาต่างๆ โดยการที่จะเลือกเรียนรู้ในทางหนึ่งใด นักเรียนควรได้รับข้อมูลมาด้วยว่า สังคมต้องการคนที่มีความรู้อย่างใด เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการของสังคมหรือชุมชนนั้นๆ โดยที่อาชีพการงานนั้นๆ ต้องไม่เป็นไปในทางมิจฉาอาชีวะ ซึ่งเอาเปรียบตนเองและผู้อื่น สัตว์อื่น ตลอดจนธรรมชาติทั้งหมด
ประเด็นหลังนี้ ควรมีการอภิปรายกันถึงสัมมาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ได้ขีดวงไว้แต่เพียงแค่การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ ค้ายาพิษ และค้าอะไรๆ ที่ก่อให้เกิดความมึนเมามืดบอด การประชาสัมพันธ์ให้บรรษัทห้างร้าน ด้วยความมอมเมาต่างๆ ตามลัทธิบริโภคนิยมนั้น สมควรไหม การธนาคารและการให้กู้ยืมด้วยการเรียกดอกเบี้ยอย่างขูดรีดนั้น ผิดหรือถูก การมีที่ดินเป็นจำนวนมาก ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีที่อยู่อาศัย ทั้งเจ้าของที่ดินยังเอาเปรียบคนเช่าที่อยู่อย่างไร้คุณธรรม ดังเช่นที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตรติย์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น เป็นมิจฉาอาชีวะหรือไม่  ยังการมีทรัพย์ศฤงคารมากมาย ด้วยการเอาเปรียบกรรมกรและลูกค้า ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน โดยมิใยต้องเอ่ยถึงทรัพยากรทางธรรมชาตินั้น เป็นมิจฉาอาชีวะหรือไม่
                    ๓)   ประการที่สามของการศึกษา คือควรเป็นไปเพื่อช่วยให้แต่ละคนได้เจริญงอกงามในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล ในทางพุทธศาสนาถือได้ว่านี่คือหัวใจของการศึกษา ดังท่านใช้คำว่าภาวนา คือให้ความเป็นมนุษย์ได้งอกงามขึ้นทุกๆ ทาง เริ่มจากร่างกาย ควรแข็งแรง อย่างมีพลานามัยอันเหมาะสม การเล่นกีฬาย่อมช่วยพลานามัยได้ ถ้าไม่มุ่งไปในทางแข่งขันเอาแพ้เอาชนะกันจนมากเกินไป ยิ่งมีเงินตราและชื่อเสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยโยงถึงบรรษัทการค้าต่างๆ ด้วยแล้ว กายภาวิตะก็จะถูกบดบังไปอย่างน่าเสียดาย กายภาวิตะคำนี้ ควรควบคู่ไปกับอโรคยา ปรมา ลาภา
องคาพยพทางร่างกายควรได้รับการบ่มเพาะให้งอกงามอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป (ดังนักกีฬาเหรียญทองมักทำลายร่างกายกันอย่างรู้ตัวหรือไม่ ก็สุดแท้) ความคิดอ่านก็ควรได้รับการฝึกปรือให้งอกงามอย่างเหมาะสมเช่นกัน การเรียนกวดวิชาเพื่อเอาเก่ง เพื่อแข่งขัน เพื่อผลสอบ หาใช่การช่วยให้ความคิดอ่านงอกงามเติบโตอย่างเหมาะสมไม่ การเรียนรู้ข้อเท็จจริง ก็จำเป็นอยู่แหละ แต่ต้องรู้จักเรียนรู้เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงนั้นๆ โดยใช้วิจารณญาณด้วยความชาญฉลาด และรู้จักแยกแยะว่าอะไรเท็จ อะไรจริง อะไรจริงอย่างผิวเผิน ซึ่งซ่อนเร้นความเท็จไว้ภายในอย่างล้ำลึกลงไป
                   การโฆษณาชวนเชื่อไม่ว่าจะจากบริษัทห้างร้าน หรือรัฐฏาธิปัตย์ แม้จนระบบการศึกษากระแสหลัก มักมียาพิษเจือปนเข้าไปกับสิ่งซึ่งอ้างว่าเป็นข้อเท็จจริง หรือความรู้ ด้วยกันแทบทั้งนั้น แม้พุทธศาสนาที่นำมาสั่งสอนให้เชื่อตามๆ กันไป ก็ให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ พระศาสดาจึงทรงเน้นถึงอุปายโกศล คือการวางท่าทีที่ถูกต้อง ในการแสวงหาสัจจะ โดยควรรู้จักตั้งคำถาม รู้จักจับประเด็น และรู้จักใช้สติวิจารณญาณ ให้ไปพ้นอคติที่ครอบงำเราอยู่ เพราะความรัก (ฉันทาคติ) เพราะความโกรธ (โทสาคติ) เพราะความกลัว (ภยาคติ) และเพราะความหลง (โมหาคติ) ถ้าเอาชนะอคติทั้งสี่นี่ได้ หรือให้เบาบางลงไปอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม จึงจักรู้วิถีถางทางเข้าไปสู่หนทางที่ถูกต้องดีงามได้
การเอาชนะอคติได้ ต้องไม่ใช้หัวสมองในทางความคิดอ่านเท่านั้น ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ และความรู้สึกที่แอบแฝงอยู่ด้วย โดยที่นี่มักโยงไปยังนิวรณ์ ๕ คือสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าไปในทางคุณธรรม ไม่ให้บรรลุถึงคุณความดี ซึ่งมักทำจิตให้เศร้าหมอง เป็นเหตุให้ปัญญาอ่อนกำลังลงได้
                       ๑)    กามฉันทะ หมกมุ่นในกามคุณ
                       ๒)  พยาบาท ความขัดข้อง เคืองแค้นใจ
                       ๓)   ถีนมิทธะ ความหดหู่ เซื่องซึม
                      ๔)   อุทธัจจะกุกุจจะ ความฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย กลุ้ม กังวล
                       ๕)  วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
            หากมีครูหรือเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร อาจเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึกจากภายนอก (ปรโตโฆษะ) ที่ช่วยให้เราเกิดสำนึก เพื่อเจริญโยนิโสมนสิการ คือทำใจให้แยยคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา สืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออก พิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดอย่างเป็นระเบียบ โดยอุบายวิธีให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุและปัจจัย
                    ๔)   เป้าหมายประการที่สี่ของการศึกษา คือการเข้าถึงความงาม ความไพเราะ ซึ่งโยงไปถึงการฝึกอบรม อารมณ์และความรู้สึกอย่างนอกเหนือออกไปจากกรอบความคิดในทางเหตุผลและตรรกวิทยา
การเรียนรู้ถึงความงาม ความไพเราะ ช่วยให้เราเข้าถึงความดีและความจริงด้วย อย่างคีตกรรม จิตรกรรมและประติมากรรม แม้จนสถาปัตยกรรม ช่วยให้เราเข้าซึ้งถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุ และมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาแต่บรรพชน โดยช่วยให้เราต้องการแสดงออกทางนฤมิตรกรรม เพื่อให้เป็นประจักษ์พยานร่วมสมัย ให้สืบทอดต่อไปยังอนุชนในอนาคต พร้อมๆ กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้งดงาม สะอาด และเป็นพลังแห่งชีวิต เพื่อเข้าถึงความเป็นเลิศอย่างไม่เป็นมลพิษ ไม่สุกเอาเผากิน ไม่เป็นไปในทางกึ่งดิบกึ่งดี
                     ทั้งหมดนี้ รวมมาที่สีลสิกขา ของการศึกษา คือให้แต่ละคนเรียนรู้ที่จะไม่เอาเปรียบตนเองและผู้อื่น สัตว์อื่น มีความแยบคาย ในการเคารพความคิด และความรู้ ตลอดจนความรู้สึก รวมถึงการติดยึดของคนอื่นๆ ด้วยความเคารพ แม้จะขัดแย้งกับเขา ก็ใช้ท่าทีที่ถูกต้องในทางวจีสุจริตเป็นที่ตั้ง
สีลสิกขาไม่ได้หมายเพียงไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น หากหมายถึงการรับผิดชอบต่อสังคม
และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และเกื้อกูลผู้อื่น สัตว์อื่น ให้เกิดความยุติธรรมในสังคม โดยอหิงสวิธี
การเข้าถึงสีลสิกขา ย่อมต้องใช้จิตสิกขา คืออบรมจิตใจ ให้ประสานสอดคล้องกับความคิด อย่างเป็นองค์รวม นักเรียนควรมีครูและเพื่อน ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร ครูเอง ก็ควรพร้อมที่จะเรียนจากศิษย์ คือเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน และเราทุกคนควรเรียนจากธรรมชาติที่แวดล้อมเราด้วย นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ถึงสังคมรอบๆ ตัวเรา โดยเฉพาะก็คนยากคนจนส่วนใหญ่ และชนกลุ่มน้อย ที่ถูกโครงสร้างทางสังคมเอาเปรียบด้วยประการต่างๆ ฉะนั้น โรงเรียนเล็กๆ ชั้นเรียนเล็กๆ ย่อมช่วยให้เกิดบรรยากาศแห่งความเป็นกัลยาณมิตร สมดังคำของ ชูมาเกอร์ที่เสนอเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ต่อต้านเศรษฐศาสตร์กระแสหลักว่า Small is Beautiful ห้องเรียนใหญ่ๆ โรงเรียนใหญ่ๆ ที่ไม่มีบรรยากาศแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ดูจะเหมาะสำหรับเป็นโรงปศุสัตว์ ยิ่งกว่าเพื่อฝึกปรือมนุษย์ ซึ่งเรียนรู้ให้เข้าถึงความประเสริฐได้ ดังพุทธภาษิตที่ว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ นั้นแล
พระศาสดา ตรัสว่า กัลยาณมิตร คือ ปรโตโฆษะ หรือเสียงแห่งมโนธรรมสำนึก ไม่ได้มาจากเพื่อนมนุษย์เท่านั้น อาจมาจากธรรมชาติหรือทวยเทพหรือมารพรหม คือสิ่งซึ่งไม่อาจแลเห็นได้ง่ายๆ ดังทางมหายานยืนยันว่าพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้าย่อมปรากฎให้เรารับรู้ได้ โดยพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือพระแม่กวนอิม พระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ก็ปรากฎให้เรารับรู้ได้ทางพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ดังอุบายวิธีอันวิเศษสุดก็อาจปรากฎให้เรารับรู้ได้โดยพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ ดังนี้เป็นต้น
ที่กล่าวมานี้ ถ้าวางท่าทีไม่ถูกต้อง ก็กลายเป็นไสยเวทวิทยาได้ง่ายๆ แต่ถ้าเยาวชนไม่ถูกสะกดโดยวัตถุนิยมกระแสหลัก และเข้าใจถึงโทษจากทุนนิยมและบริโภคนิยม ที่ใช้สื่อมวลชนมอมเมาอยู่ทุกเช้าค่ำ โดยที่ถ้าผู้เยาว์ รู้จักเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ทางสีลสิกขา และจิตสิกขา ดังบางท่านอาจเข้าถึงปัญญาสิกขาด้วยแล้วไซร้ เยาวชนนั้นๆ จะได้รับผัสสะอันประเสริฐจากคนร่วมสมัย โดยที่ในโลกตะวันตกช่องว่างระหว่างวัยมีมากขึ้นทุกทีแล้ว โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงช่องว่างระหว่างชนชั้น และเราก็เอาอย่างตะวันตก มามองเห็นผู้เฒ่าผู้แก่เป็นคนล้าสมัยไปกันด้วยแล้ว โดยที่แทบมองไม่เห็นศักยภาพอันวิเศษของคนยากคนจนกันเอาเลย  ถ้าเราหันมาเน้นที่ความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างคนต่างเพศ ต่างวัย ต่างชั้นวรรณะ ศิษย์เรียนจากครู ครูเรียนจากศิษย์ คนรวยเรียนจากคนจน โดยต่างก็พยายามเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน เราอาจขยายวงแห่งการรับรู้ในทางปรโตโฆษะออกไปยังผู้ซึ่งไม่ได้เป็นบุคคลร่วมสมัยในบัดนี้ก็ได้ และการศึกษาที่แท้นั้น ต้องเข้าถึงอดีต อย่างไม่น้อยไปกว่าปัจจุบัน ดังคำของใครคนหนึ่งซึ่งพูดว่า
“ประเพณีคือประชาธิปไตยสำหรับผู้ที่ตายจากไปแล้ว เท่ากับเป็นการให้สิทธิ์เสียงแก่ชนชั้นต่างๆ ที่ไกลโพ้นออกไปที่สุดจนแทบไม่มีใครรู้จักเขากันเอาเลยด้วยซ้ำ คนพวกนี้แหละคือบรรพบุรุษของเรา ประเพณีย่อมไม่ยอมสยบให้กับระบบทรราชอันทรนง โดยที่คนที่คุมระบบนี้ เผอิญมีชีวิตอยู่รอบๆ เราเท่านั้นเอง” 
(จาก สอดสร้อยมาลา ศิวาลังการ ของ ส. ศิวรักษ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ หน้า ๗๓)
ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ คือการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความงอกงามให้แต่ละคน และนั่นก็คือพื้นฐานของความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งต้องไปพ้นพรมแดนทางชาตินิยมและไปพ้นเศรษฐกิจและการเมืองกระแสหลัก  เพื่อเข้าถึงคุณวิเศษอื่นๆ ด้วย ทั้งทางวัฒนธรรม คุณธรรม และศาสนธรรม โดยที่ข้าพเจ้าได้เหลียวหลังไปยังการศึกษาของโลกด้วยบ้าง แต่พอหอมปากหอมคอ


เครดิต : ส. ศิวรักษ์ ปาฐกถา ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ 
ตามคำเชิญของสภาการศึกษาทางเลือก เนื่องในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ  
เรื่อง ‘ปัญหาและทางออก การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ๗๐๐๐ โรง’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น