วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลากหลายนโยบาย ไร้เอกภาพในการปฏิบัติ

              การจัดการศึกษาของไทยเป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย  จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
               การจัดกระบวนการเรียนรู้จึงต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 

กระบวนการจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว จึงต้องยึดหลักที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  จำนวน 6 หลัก ดังนี้
1.         มีเอกภาพ ด้านนโยบาย และ มีความหลากหลาย ในการปฏิบัติ
2.         มีการกระจายอำนาจ ไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.          มีการ กำหนด มาตรฐานการศึกษา และ จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษา ทุกระดับ และ ประเภทการศึกษา
4.         มีหลักการ ส่งเสริม มาตรฐานวิชาชีพ ครู คณาจารย์ และ บุคลากรทางการศึกษา และ การพัฒนาครู คณาจารย์ และ บุคลากรทางการศึกษา อย่างต่อเนื่อง
5.         ระดม ทรัพยากร จาก แหล่งต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา
6.         การมีส่วนร่วม ของ บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์การชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และ สถาบันสังคม อื่น
จะเห็นได้ว่าหลักในการจัดการศึกษาที่สำคัญที่สุด ซึ่งกฎหมายการศึกษาแห่งชาติได้บัญญัติไว้เป็นประการที่ 1  คือ หลักการมีเอกภาพด้านนโยบาย และมีความหลากหลายในการปฏิบัติ   หมายความว่า การมีนโยบายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ผู้ปฏิบัติจะกระทำหรือดำเนินการอย่างไร แล้วแต่จะเลือกปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุตามนโยบายเดียวกันนั้น
นโยบายการศึกษาที่มีเอกภาพ จึงมีความสำคัญที่จะเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของชาติให้บรรลุตามความมุ่งหมาย  ดังที่  วิจิตร ศรีสะอ้าน  ได้เปรียบเทียบว่านโยบายเปรียบเสมือนเข็มทิศและหางเสือในการเดินเรือ ที่จะพาเรือไปในทิศทางที่กำหนดไว้ได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดนโยบายการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน  เพื่อจะนำพาประเทศให้พัฒนาไปในทิศทางที่ต้องการ
สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นับแต่ได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายแม่บทสำหรับการจัดการศึกษาของไทย และเป็นการเริ่มปฐมบทปฎิรูปการศึกษาไทยเป็นต้นมา นับเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่าสิบปี  เปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาแล้ว 7  ชุด นโยบายการจัดการศึกษาของไทยก็เป็นไปตามการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลแต่ละชุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่ละคน ซึ่งล้วนหาทิศทางที่ยั่งยืนแน่นอนมิได้
ทศวรรษการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ผ่านมา จึงเป็นแค่การทดลองเสวยอำนาจของผู้มีอำนาจแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ได้เข้ามาดำรงอำนาจรัฐในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านคนแล้ว คนเล่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงไร้ทิศทาง จนเกิดผลปรากฏอย่างแจ้งชัดว่า คุณภาพการศึกษาของเรายิ่งต่ำลง ทั้งผลการประเมิน PISA ,O-NET หรือ ผลการประเมินคุณภาพภายนอก ของ สมศ. เป็นต้น
หากนโยบายจัดการศึกษาของชาติแจ่มชัด ยั่งยืน และเสถียร ทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานก็คงจะดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยรัฐบาลควรดำเนินการในแนวทาง ดังนี้
1.         กำหนดอนาคต (vision) ด้านการศึกษาให้ชัดเจน และเป็นทิศทางอนาคตของชาติที่ยั่งยืน
2.         นโยบายการจัดการศึกษาต้องเป็นนโยบายของชาติ มิใช่นโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย หรือนโยบายรัฐมนตรีแต่ละคน
3.         หน่วยงานทางการศึกษาทุกหน่วยงาน ต้องนำนโยบายการศึกษาชาติไปสู่การปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด และแต่ละหน่วยงานไม่ควรกำหนดนโยบายอะไรมาเพิ่มเติมจนมากมาย เกิดความยุ่งยากแก่สถานศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานการปฏิบัติ
4.         ต้องปรับ ลด หรือยุบ หน่วยงานทางการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ และเกิดความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติ (สถานศึกษา)  ต้องมาร่วมรับภาระเพิ่มเติม โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษาแต่ประการใด

แนวทาง 4 ประการที่นำเสนอนี้ น่าจะเป็นรูปธรรมที่รัฐควรจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านความหลากหลายด้านนโยบาย ไร้เอกภาพในการปฏิบัติ ทำให้ทิศทางการจัดการศึกษาสู่ความมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ นั่นย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า คุณภาพการศึกษาต้องบรรลุผลตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงกระบวนการจัดการศึกษาที่มีเอกภาพด้านนโยบาย และมีความหลากหลายในการปฏิบัติ  เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  ส่งผลต่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติให้มีคุณภาพต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น