วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โฮจิมินห์ปฏิรูปการศึกษา เลิกระบบให้คะแนนเด็ก

      ผมเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์อย่างสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสูงมากกว่าประเทศไทยที่อวดตัวว่าเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จากตัวอย่างในหลายๆ กรณี เช่น การยับยั้งการสร้างเขื่อนที่เกิดขึ้นมในระดับจังหวัด เป็นต้น

         ล่าสุด นี้ได้อ่านข่าวอีกข่าวหนึ่งจากเวียดนามที่สะท้อนให้เห็นสิ่งเดียวกันนี้ แต่เป็นด้านการศึกษา นั่นก็คือคำสั่งของกรมการศึกษาและฝึกอบรมแห่งนครโฮจิมินห์ ให้ยกเลิกการให้คะแนนหรือการให้เกรดอันเป็นการวัดผลการเรียนของนักเรียนเกรดหนึ่งในปีการศึกษาใหม่นี้


ภายใต้คำสั่งนี้ครูของนักเรียนเกรดหนึ่งตามโรงเรียนในโฮจิมินห์จะทำได้เพียงการแสดงความคิดหรือให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการเรียนหรือพัฒนาการของเด็ก แต่ห้ามให้เกรดหรือให้คะแนนไม่ว่าจะในแบบฝึกหัดและข้อสอบ แม้ว่าจะไม่ได้ห้ามให้คะแนน แต่ห้ามรายงานผลคะแนนให้กับผู้ปกครอง

สาเหตุที่นครโฮจิมินห์เลือกระบบการศึกษาแบบใหม่ที่จะเลิกการให้คะแนนนักเรียน และจะเริ่มทดลองจริงจังในปีการศึกษานี้ก็เพื่อจะลดแรงกดดันต่อผู้ปกครองของเด็กๆ เกี่ยวกับผลการเรียนของเด็ก และที่สำคัญคือต่อตัวเด็กเอง

พ่อแม่ก็ไม่อยากให้ลูกตัวเองด้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ ในชั้นเรียน เด็กเองก็ไม่อยากเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เมื่อคะแนนไม่ดีหรือน้อยกว่าคนอื่นๆ เด็กจะรู้สึกไม่ดี และกลับยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายการเรียนมากยิ่งขึ้นไปอีก

เกรดหนึ่งของเวียดนามก็เท่ากับ ป.1 ของไทย หรือเมื่อเด็กอายุประมาณ 6 ขวบ

ในความคิดของกรมการศึกษานครโฮจิมินห์ ระบบการวัดผลด้วยการให้คะแนน ส่งผลให้พ่อแม่เพิ่มแรงกดดันกับลูกตัวเองก่อนวัยเรียนให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นตั้งแต่ก่อนจะเข้าเรียนเกรดหนึ่งเพราะไม่ต้องการให้ลูกด้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ ในห้องเรียน หรือเอาลูกไปเข้าเรียนพิเศษต่างๆ นานา เมื่อคะแนนออกมาไม่ดี ไม่ค่อยแตกต่างจากพ่อแม่ยุคใหม่ของไทยที่มีฐานะเท่าไรนัก 

ระบบใหม่ที่นำมาใช้คาดว่าจะลดแรงกดดันดังกล่าวนี้ลงไป ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่องดีสำหรับเด็กเอง ใครที่ทุกวันนี้ยังไม่ลืมความเห็นเด็กน่าจะรู้สึกได้ถึงแรงกดดันบางอย่างที่โรงเรียนใส่ลงมาในตัวเราแต่ละคน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

หากโครงการทดลองประสบความสำเร็จก็จะออกมาเป็นกฎหมายต่อไปในอนาคต เวียดนามก็ไม่ต่างไปจากไทยที่ระบบการศึกษาเป็นบันไดไต่เต้าทางสังคมอย่างหนึ่ง คนจนก็ดิ้นรนผ่านระบบการศึกษาไปเพื่อหวังในอนาคตที่ดีขึ้น คนรวยก็หวังที่จะใช้การศึกษาเป็นบันไดต่อยอดสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป 

แต่บันไดนี้ไม่เท่ากันมาตั้งแต่ที่บ้านแล้ว

คนที่ไต่ขึ้นไปได้สำเร็จแล้วลืมตัวก็มีถมเถไม่ว่าประเทศไหนๆ


โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com  
หนังสือพิมพ์ประชาติธุรกิจ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1382348542

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น