1. ความเป็นมาของหลักสูตรไทย
     ความเป็นมาของการศึกษาไทยช่วยให้เห็นพัฒนาการด้านการศึกษาเป็นสำคัญ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ การจัดการศึกษาจะต้องสนองความต้องการของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง การศึกษาและหลักสูตรของไทยแต่โบราณกาล  เริ่มจากวัดและวัง คือการศึกษาและหลักสูตรในสมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยปฏิรูปการศึกษาเป็นแผนปัจจุบัน
1.1  การศึกษาและหลักสูตรในสมัยสุโขทัย
การศึกษาสมัยนี้ใช้วัดเป็นสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอนยังไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ยังไม่มีหลักสูตร ไม่มีการจัดการศึกษาภาคบังคับ วิชาที่เรียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการอ่านออกเขียนได้ การสอนเป็นการให้เปล่าไม่มีการตอบแทน
1.2  การศึกษาและหลักสูตรสมัยกรุงศรีอยุธยา
มีแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกเกิดขึ้น คือจินดามณี ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองได้ ในสมัยนี้ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ หลายประเทศ ดังนั้นหลักสูตรสมัยนี้จึงกำหนดให้เรียนภาษาไทย บาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า มอญ จีน เลข โหราศาสตร์ วิชาช่าง และวิชาชีพต่าง ๆ
1.3  การศึกษาสมัยกรุงธนบุรี
มีระยะเวลาสั้น จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้คืนสภาพภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 พ.ศ.2310

1.4  การศึกษาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น 
ในสมัยนี้มีการติดต่อกับประเทศอังกฤษ จึงมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง วัดและบ้านเมืองยังเป็นที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา แต่เนื่องจากพระเป็นผู้รับมอบให้จัดการศึกษา จึงเป็นการให้การศึกษาแก่พลเมืองชายมากกว่า ส่วนการศึกษาของสตรียังไม่เป็นที่นิยม
1.5    การศึกษาและหลักสูตรสมัยปฏิรูปการศึกษา (สมัยรัชกาลที่ 5)
ได้มีการตั้งโรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง พ.ศ.2414  นับว่าเป็นโรงเรียนแรกที่มีลักษณะเป็นโรงเรียนแผนปัจจุบันเกี่ยวกับหลักสูตรมีการสอนวิชาหนังสือและเลข ตลอดจนขนบธรรมเนียมในราชการเพื่อฝึกคนเข้ารับราชการ โรงเรียนหลวงแห่งนี้ดำเนินการอยู่ได้ 5 ปี ต้องเลิกไปเพราะครูกลับยุโรป ระยะหลัง พ.ศ.2424 มีผู้เห็นความสำคัญของการศึกษาและเข้ารับการศึกษามากขึ้นจึงทรงโปรดให้ขยายโรงเรียน เพื่อสนองความต้องการของประชาชน โปรดให้ตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มีการทำแบบเรียนหลวงใช้แทนจินดามณี คือแบบเรียนภาษาไทย แต่งโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร นอกจากนั้นให้เรียนภาษาอังกฤษ และวิชาสำหรับข้าราชการพลเรือน  จัดให้มีการสอบไล่หนังสือไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ปี พ.ศ.2427  โดยผู้สอบได้จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าสอบได้ชั้นประโยคหนึ่ง จะไปรับราชการต่อประโยค 2 ได้ ต่อมา ปี พ.ศ.2429  ได้มีการแก้ไขหลักสูตรสำหรับสอบไล่เพื่อให้สอดคล้องกับแบบเรียนเดิม และให้มีการวางระเบียบการสอบไล่ภาษาอังกฤษ ได้มีการขยายโรงเรียนแบบหลวงออกไปตามวัด เรียกว่าโรงเรียนมูลศึกษา โรงเรียนที่ตั้งในวัดแห่งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม เป็นโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั่วไป  มีการตั้งกรมศึกษาธิการในปี พ.ศ.2430 และกระทรวงธรรมการในปี พ.ศ.2435 ต่อมาได้เลิกหนังสือแบบเรียนหลวง 6 เล่ม และเปลี่ยนเป็นใช้แบบเรียนเร็ว ซึ่งสามารถเรียนได้เร็วกว่า แบบเรียนนี้   1 ชุด มี 3 เล่ม และใช้ตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ.2447 ได้ตั้งสามัคยาจารย์สมาคม สมาคมได้ออกจดหมายเหตุชื่อ วิทยาจารย์ ซึ่งยังคงเป็นวารสารของคุรุสภา 
ความเคลื่อนไหวทางการศึกษาและหลักสูตรต่อมาจนถึง
พ.ศ.2475 ดังนี้

  1. ตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย
  1. ตราพระราชบัญญัติ โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461
  1. ตราพระราชบัญญัติ ประถมศึกษา พ.ศ.2464 บังคับเด็กอายุ 7 ปี บริบูรณ์ให้เรียนหนังสือจนอายุ 14 ปี บริบูรณ์ อายุบังคับอาจจะขยายเป็น 8,9,10 ปีก็ได้แล้วแต่กรณี
  1. มีการเก็บเงินช่วยเหลือการศึกษาภาคบังคับ เรียกว่าเงินศึกษาพลี ชายอายุ 14-60 ปีต้องเสียในอัตรา 1-3 บาท แล้วแต่ท้องที่จะกำหนด
  1. ประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2456,2458 และ 2464
  1. เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2462
  1. สภากาชาดไทยได้จัดตั้งอนุสภากาชาดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2465
  1. จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเมื่อ พ.ศ.2466

1.6    การศึกษาและหลักสูตรหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475-2521)
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้มีประกาศแผนการศึกษาแห่งชาติใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงได้ประกาศใช้หลักสูตร พ.ศ.2480 ประกอบด้วยหลักสูตรประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะจัดขึ้นเองเป็นการภายใน ต่อมาในปี พ.ศ.2491 และในปี พ.ศ.2492 ได้ประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใหม่ ในปี พ.ศ.2494  ได้มีการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาชาติใหม่ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเดิมให้ถือเป็นวิสามัญศึกษาควบคู่กับอาชีวศึกษาตอนต้น และกำหนดให้มีมัธยมศึกษาสามัญศึกษาขึ้นใหม่โดยเน้นหนักทางหัตถศึกษามากขึ้นกว่าสายสามัญ เมื่อจบมัธยมศึกษาแล้ว ไม่ต้องการเรียนต่อทางสายวิสามัญแต่อาจจะต่อทางสายอาชีวศึกษาการศึกษาพิเศษหรือการศึกษาผู้ใหญ่ มัธยมศึกษาที่จัดตั้งใหม่นี้ยังไม่ประกาศเป็นหลักสูตรออกบังคับใช้ เป็นแต่เพียงหลักสูตรที่ปรับปรุงใช้เป็นการภายใน เนื่องจากอยู่ในระหว่างการทดลองต่อมาปี พ.ศ.2498  กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุงหลักสูตรประถมศึกษาและเตรียมอุดมใหม่ เฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ปฏิรูปการสอนภาษาไทยตามแนวการศึกษาแผนใหม่แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ใช้ได้อยู่ 5 เดือน จึงประกาศยกเลิกและกลับไปใช้หลักสูตรประถมศึกษาเดิม ส่วนหลักสูตรอุดมศึกษา ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง แต่ยังคงแบ่งเป็นแผนกอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และมีวิชาเลือกมากขึ้น และใช้หลักสูตรนี้เรื่อยมาจนถึง ปี พ.ศ.2504 ในปี พ.ศ.2503 ได้ประกาศใช้หลักสูตรประถม และมัธยมศึกษาพร้อมๆ กัน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 จัดการศึกษาเป็น 4 ระดับคือ การศึกษาก่อนการศึกษาภาคบังคับ อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา สำหรับหลักสูตรประถมศึกษา แบ่งเป็น ประถมศึกษาตอนต้น 4 ปี ประถมศึกษาตอนปลาย 3 ปี หลักสูตรประกอบด้วยวิชา 6 หมวดใหญ่ๆ ในชั้นประถมศึกษาตอนต้น คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย ศิลปศึกษา พลานามัย สำหรับประถมศึกษาตอนปลายเพิ่มหมวดวิชาภาษาอังกฤษ และหัตถศึกษา ส่วนหลักสูตรมัธยมศึกษาแบ่งเป็น 2 สาย คือ สายสามัญ สายอาชีพแบ่งเป็น มัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย แต่ละประโยคอาจจัดเป็น 1, 2 หรือ 3 ชั้นก็ได้  ตามลักษณะของวิชาชีพแม้จะแบ่งเป็นสายแต่ก็มีหลักสูตรร่วมกันอยู่ส่วนหนึ่งที่ทุกคนต้องเรียนร่วมกัน  ต่อมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2517  สภาพของบ้านเมืองทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ได้เปลี่ยนแปลงไป มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านศิลปะวิทยาการและเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก หลักสูตร พ.ศ.2503 จึงดูล้าสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จนทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศเพราะการศึกษาไม่สามารถช่วยให้บุคคลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและอาชีพได้ การศึกษาเป็นการศึกษาที่ไม่จบในตนเองแต่ละระดับเป็นการศึกษาเพื่อศึกษาต่ออยู่เรื่อยๆ และเป็นการศึกษาในลักษณะแพ้ คัดออกในทุกระดับ จึงมีคนจำนวนน้อยที่มีโอกาสเรียนสูง และคนจำนวนมากไม่ได้เรียน คนที่ไม่ได้เรียนจะไม่สามารถนำความรู้ที่ได้รับเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไปประกอบอาชีพหรือดำเนินชีวิตที่ดีได้ จึงเป็นการเสียเวลาและสูญเปล่าของทรัพยากรหลักสูตรก็เน้นแต่เพียงความสามารถทางด้านสติปัญญาเพียงด้านเดียว นอกจากนั้นประชาชนและเยาวชน มีความคิดที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากด้วยการแสดงออกในรูปของการรวมพลังจนก่อให้เกิดความสับสนในสังคมเป็นอันมาก นักบริหารและนักการศึกษา  เห็นปัญหาเหล่านี้ จึงได้พยายามที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศอยู่หลายครั้ง ทั้งในรูปของการปรับปรุงโครงการศึกษา หรือแผนการศึกษาแห่งชาติรวมทั้งเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการศึกษา แต่ไม่ค่อยได้ผลนัก เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องและบางส่วนเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่า การจัดการศึกษาที่มุ่งแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ดังนั้นในปีเดียวกันนี้เอง (25 มิถุนายน 2517)  คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา โดยมีหน้าที่ เสนอแนวทางการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนและลักษณะอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับกาลสมัยเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระบอบประชาธิปไตย โดยมี ดร.สิปนนท์ เกตุทัต เป็นประธานกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา และได้มาตรการที่พึงปฏิบัตินำเสนอคณะรัฐมนตรี ด้านหลักสูตร ใช้ระบบการศึกษา 6:3:3 แทน 7:3:2 หรือ 4:3:3:2 กล่าวคือใช้เวลา 6 ปีสำหรับประถมศึกษา 3 ปี สำหรับมัธยมศึกษาตอนต้น และ 3 ปี สำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปรับปรุงหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้และแบบเรียน การปฏิรูปการศึกษา มิได้เกิดอย่างจริงจังทั้งนี้เพราะความผันผวนทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ต่อมา พ.ศ.2520  กระทรวงศึกษาธิการให้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพของสังคม และหลักการของการปฏิรูปการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม จนปรับปรุงแล้วเสร็จก่อน คือหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศใช้ในปีการศึกษา 2518 โครงสร้างของหลักสูตรมีทั้งวิชาเลือกและวิชาบังคับเพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสามารถตามความถนัด และความสนใจของตนเอง ส่วนหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นได้ดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อมาเป็นลำดับ ประกาศใช้เป็นหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช  2521  หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 ต่อมาปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม เศรษฐกิจ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ ในปีพุทธศักราช 2533,2544 และ พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรในปัจจุบัน
2.  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2503
                พ.ศ.2503 ได้ประกาศแผนการศึกษาฉบับใหม่ แผนการศึกษาชาติฉบับนี้ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันเรียกว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ได้แบ่งการศึกษาสายสามัญศึกษาออกเป็น 4 ระดับ คือ
1) อนุบาลศึกษา
2) ประถมศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
     - ประถมศึกษาตอนต้น 4 ปี
     - ประถมศึกษาตอนปลายมี 3 ปี
3) มัธยมศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
     - มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี
     - มัธยมศึกษาตอนปลาย 2 ปี
พร้อมกันนี้ก็ได้ประกาศใช้หลักสูตรฉบับใหม่ขึ้นอีก สำหรับในระดับประถมศึกษา ได้ประกาศใช้หลักสูตร 2 ฉบับ คือ หลักสูตรประถมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2503 และหลักสูตรประถมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2503  เหตุผลที่แบ่งเป็น 2 ตอน เพราะ มีการเพิ่มเนื้อหามากขึ้น และได้มีการระบุเนื้อหาวิชาสำหรับทุกระดับชั้นเรียน
2.1 การวัดผลประเมินผล
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการวัดผลการศึกษาชั้นประถมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2504 แบ่งการวัดผลนักเรียนแต่ละคนทั้ง 3 ประเภท คือ
1) การวัดผลด้านพัฒนาการทางนิสัย
2)การวัดผลงานระหว่างปี
3)การสอบปลายปี
2.1.1 ผู้มีหน้าที่วัดผลคือ
                การวัดผลด้านพัฒนาการทางนิสัย และการวัดผลงานระหว่างปีให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียน สำหรับในการสอบปลายปี ปฏิบัติดังนี้
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้โรงเรียนเป็นผู้สอบ
- ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปฏิบัติดังนี้
- โรงเรียนประชาบาล ให้ศึกษาธิการอำเภอจัดการสอบ โดยอนุมัตินายอำเภอ
- โรงเรียนเทศบาล ให้เจ้าหน้าที่จัดการศึกษาแห่งเทศบาล หรือศึกษาธิการอำเภอจัดการสอบโดยอนุมัตินายกเทศมนตรีหรือนายอำเภอแล้วแต่กรณี
- โรงเรียนสังกัดกองการศึกษาพิเศษ
สังกัดส่วนกลาง ให้หัวหน้ากองการศึกษาพิเศษเป็นผู้สอบ
สังกัดจังหวัดให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้สอบ
สังกัดอำเภอ ให้ศึกษาธิการอำเภอเป็นผู้สอบ โดยอนุมัตินายอำเภอ
- โรงเรียนราษฎร์
สังกัดส่วนกลาง ให้โรงเรียนราษฎร์เป็นผู้สอบ
สังกัดส่วนภูมิภาคให้ศึกษาธิการอำเภอจัดการสอบ โดยอนุมัตินายอำเภอ
- โรงเรียนสาธิตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้สอบ
2.1.2 การสอบปลายปีทุกชั้น ให้สอบในระยะ 20 วัน ก่อนวันสิ้นปีการศึกษา
2.1.3 นักเรียนที่จะเข้าสอบปลายปีได้นั้น ต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของเวลาเปิดเรียนในรอบปีการศึกษา แต่ถ้านักเรียนคนใดมีเวลาเรียนน้อยกว่าที่กำหนดไว้นี้ เพราะเหตุจำเป็นอย่างแท้จริง และเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วเห็นว่านักเรียนคนนั้นมีพัฒนาการทางกาย สังคม อารมณ์ และสติปัญญาความรู้ได้ระดับ ก็ให้สั่งอนุญาตเข้าสอบปลายปีได้
2.1.4 นักเรียนที่มีสติปัญญาความรู้ดีเด่น สามารถเลื่อนชั้นสูงกว่าเดิมได้อีกหนึ่งชั้น ยกเว้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในการเลื่อนชั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองเป็นหลักฐานด้วย ผู้มีอำนาจอนุมัติเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจตามต้นสังกัดของประเภทโรงเรียนนั้นๆ ทั้งนี้นักเรียนที่จะได้เลื่อนชั้น มีอายุกำหนดการเลื่อนดังนี้
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ต้องมีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต้องมีอายุ 8 ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องมีอายุ 9 ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป
2.1.5 คะแนนการสอบแบ่งเป็นดังนี้
คะแนนของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 แยกเป็น
คะแนนพัฒนาการทางนิสัย     ร้อยละ 10 ของคะแนนรวม
คะแนนระหว่างปี                  ร้อยละ 65 ของคะแนนรวม
คะแนนปลายปี                     ร้อยละ 25 ของคะแนนรวม
คะแนนของชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4 แยกเป็น
คะแนนระหว่างปี                  ร้อยละ 50 ของคะแนนรวม
คะแนนปลายปี                    ร้อยละ 50 ของคะแนนรวม

เครดิต : นุศรา หลวงชัยสินธุ์  โรงเรียนวัดเถลิงกิตติยาราม