วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทวิพากษ์การศึกษาไทยในมุมมองของ ลี กวน ยู

       มุมมองของอดีตผู้นำสิงคโปร์ นายลี กวน ยู ในหนังสือ ที่ชื่อว่า "One Man's View of the World"  มุมมอง​โลกของ​ผู้ชายคนหนึ่ง พ็อค​เกตบุ๊ค​เล่มหนา ​เขียน​โดยทีมนักข่าวของหนังสือพิมพ์รายวัน The Strait times ​ในสิงค​โปร์ ​เรียบ​เรียงจากคำ​ให้สัมภาษณ์ "ลี กวน ยู" จัดพิมพ์​โดย Singapore Press Holdings เปิดตัวที่ Istana Presidential Palace  6 ส.ค.2013 ​โดยนายลี​ กวน ยู ไป​เซ็นหนังสือด้วยตัว​เอง




       นายลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้ตอบคำถามนักข่าวที่น่าสนใจในประเด็นคำถามที่ว่า "ประะเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นคู่แข่งของสิงคโปร์    ในด้านการคมนาคม การผลิตและการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือไม่?"
     นายลี ตอบกับนักข่าวสั้นๆง่ายๆว่า "ก็ลองมองในเชิงภูมิศาสตร์ดูสิ ถ้าพูดถึงการเดินเรือ คุณสามารถข้ามกรุงเทพ ฯไปได้เลย แต่คุณข้ามสิงคโปร์ไม่ได้"
       เมื่อถูกถามต่อว่า "แล้วถ้าเป็นการเดินทางทางอากาศล่ะ " นายลี ตอบว่า "พวกเขา (คนไทย) มีทักษะการศึกษาแค่ไหนกัน พวกเขาต้องทำตัวให้เหนือพวกเราในด้านนี้ให้ได้เสียก่อน"
       นักข่าวถามต่ออีกว่า "แต่ประเทศไทยจะมีศักยภาพเหนือสิงคโปร์หรือไม่?"  คำตอบของ ลี กวน ยู คือ "อันดับแรก เรามีภาษีเหนือกว่าในด้านภาษาอังกฤษ อันดับที่สอง เรามีระบบการศึกษาที่ผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพ...ไม่มีใครที่จบออกมาแล้วไม่มีทักษะด้านใดด้านหนึ่ง พวกเขา (ประเทศไทย)สามารถจะทำให้คนไทยทั้ 60 ล้านคนเป็นอย่างเราได้หรือไม่"
      จากประเด็นการตั้งคำถามของนักข่าว The Strait times ที่มีต่อนายลี กวน ยู ย่อมเห็นได้ว่าไม่มีคำตอบอะไรที่สลับซับซ้อน สิ่งเดียวที่ที่จะทำให้สังคมใดสังคมหนึ่งมีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันได้ ก็คือการศึกษา และการศึกษาไม่ใช่งานที่ทำเสร็จภายในวันเดียว แต่ต้องใช้เวลาหลายปี 
      นับแต่มีการปฏิรูปการศึกษา โดยจัดให้มีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา เราได้ปรับโครงสร้างองค์กรทางการศึกษาใหม่ ปรับหลักสูตรใหม่ ปรับระบบการบริหารบุคลากรใหม่ ปรับระบการตอบแทนเงินค่าจ้างใหม่ อีกหลายๆอย่างที่ทำใหม่ แต่ก็ไม่สามารถทำให้การศึกษาของเรามีคุณภาพตามที่ต้องการได้
     ฉะนั้นในมุมมองของนายลี กวน ยู แม้จะทำให้เรารู้สึกสะดุ้งกับกับการตีแผ่การศึกษาไทยที่ไม่สามารถทัดเทียมกับเขาได้ ก็ต้องนำมาถกคิดและร่วมสร้างการศึกษาให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ให้จงได้ (ย้ำต้องทำให้จงได้)
        การศึกษาจึงเป็นเรื่องต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความตั้งใจทุ่มเทเสียสละของผู้นำประเทศ ตราบใดที่งานด้านการศึกษายังเป็นตำแหน่งสำหรับตอบแทนทางการเมือง และเป็นงานที่ไม่เคยถูกจัดให้เป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ หรือสำคัญที่สุดของประเทศ ก็อย่าได้หวังเลยว่าเราจะสามารถสร้างคนให้มีคุณภาพที่ดีได้
         การสร้างชาติจึงต้องสร้างด้วยการศึกษาเท่านั้น 
          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น